Last updated: 14 มี.ค. 2567 | 812 จำนวนผู้เข้าชม |
มะเขือเทศเชอรี่ (Cherry tomato) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lycopersicon esculentum อยู่ในพืชตระกูลมะเขือ (Solanaceae) มะเขือเทศเชอรี่จัดอยู่ในประเภทเลื้อย (Indeterminate type) ซึ่งมีลักษณะลำต้นเลื้อย เกิดช่อดอกทุกๆ 3 ข้อ ในการปลูกมะเขือเทศเชอรี่จึงจำเป็นที่จะต้องทำค้างโดยใช้ไม้ปักหรือมัดขึ้นกับเชือก มะเขือเทศเชอรี่มีหลากหลายสี เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดงและสีชมพูเป็นต้น สามารถรับประทานผลสด รสชาติเปรี้ยวอมหวาน เหมาะสำหรับตกแต่งจานอาหารให้มีสีสันสวยงามได้ และมีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นแหล่งของคาโรทีนอยด์ โปแทสเซียม วิตามินซีและวิตามินอี มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายทำให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์วัย มะเขือเทศเชอรี่นิยมปลูกตามครัวเรือน ในแปลงหลังบ้าน เพื่อนำมาประกอบอาหารรับประทานผลสด ปลูกง่ายให้ผลดกและสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
วิธีการปลูกมะเขือเทศเชอรี่
การปลูกเมล็ดมะเขือเทศเชอรี่เริ่มจากการคัดเลือกหาพันธุ์ที่ต้องการ เช่นลักษณะของสีผล รสชาติและรวมถึงลักษณะประจำพันธุ์ ซึ่งมะเขือเทศเชอรี่จะชอบอากาศที่มีอุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียสเป็นอุณหภูมิที่ทำให้การปลูกมะเขือเทศได้ผลผลิตที่สูง การตัดสินใจควรเลือกสายพันธุ์ให้ได้เหมาะสมต่อความต้องการและง่ายต่อการดูแลจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
การเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดมะเขือเทศมีวิธีการที่เรียบง่ายคือการหยอดเมล็ดลงในดินเพาะปลูก (พีทมอส) เลือกดินเพาะปลูกที่มีการระบายน้ำที่ดีและร่วนซุย ซึ่งจะช่วยให้รากเดินได้ดี ไว้ในที่มีแสงแดด รดน้ำทุกวัน ในระยะ 4-5 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก และระยะกล้า 25-30 วัน ระบบรากจะเดินเต็มที่ เริ่มมีใบจริง 1-2 คู่ ซึ่งเป็นระยะกล้าที่เหมาะสมต่อการย้ายปลูก
การเตรียมแปลงปลูก มะเขือเทศเชอรี่จะชอบดินที่มีลักษณะร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี pH อยู่ในช่วง 6.0-6.5 ในการเตรียมแปลงปลูกควรจะตากดินไว้สำหรับฆ่าเชื้อโรคที่ตกค้างในแปลงระยะเวลา 5-7 วัน ปรับสภาพดินด้วยอินทรีย์วัตถุตามความเหมาะสมของพื้นที่ เตรียมแปลงหน้ากว้าง 1-1.2 เมตร คลุมพลาสติก เจาะหลุมปลูกระยะ 50x50 เซนติเมตร ทำค้างสูง 2-2.5 เมตร หรือขึงเชือกขึ้นค้างในกรณีที่จะตัดแต่งเถาไว้ 1-2 เถาต่อต้น ใช้ระบบน้ำหยดในการให้น้ำเพื่อง่ายต่อการจัดการ
การให้ปุ๋ยและดูแลจัดการ หลังจากการย้ายกล้าปลูกลงดิน 5-10 วัน หยอดปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงเช่น 46-0-0 หรือ 25-7-7 ต้นละ 2 กรัม หรือละลายไปกับน้ำเพื่อให้เร่งการเจริญเติบโตทางต้นและใบ เมื่ออายุกล้า 20-25 วัน ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ต้นละ 5 กรัม จากนั้นให้ปุ๋ยสูตรเสมออีกทุกๆ 10-15 วัน จนเริ่มมีการออกดอก (ระยะเวลาประมาณ 40-45 วัน) ให้เปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 13-13-21 และในระยะสุดท้ายก่อนทำการเก็บเกี่ยว 10-20 วัน ให้ใช้ปุ๋ยที่มีโปแทสเซียมสูง 0-0-60 เพื่อให้ได้ผลที่มีรสชาติหวาน สิ่งที่ต้องระวังในการปลูกมะเขือเทศคือเรื่องของผลสุกแตก ซึ่งสามารถแก้โดยการฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม โดยเน้นตัวแคลเซียมโบรอนตั้งแต่เริ่มออกดอกติดผลซึ่งจะช่วยป้องกันการแตกของผล (เป็นมากในฤดูฝน) ระยะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว 60-70 วันผลจะเริ่มสุกโดยเริ่มจากช่อผลที่อยู่ข้อล่างและทยอยสุกขึ้นมา
การตัดแต่งกิ่งทำได้โดยการริดเอาใบและกิ่งแขนงที่อยู่ต่ำกว่าง่ามแรกออก การเลือกกิ่งหรือเถาเก็บไว้สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่และความต้องการ ในการจัดการแต่งกิ่งนอกจากช่วยลดโรคและแมลงแล้วยังง่ายต่อการจัดการอีกด้วยเช่นกัน
โรคและแมลงศัตรูและวิธีการป้องกันของการปลูกมะเขือเทศเชอรี่
ในแปลงที่มีการจัดการที่ดีหรือแปลงที่ปลูกในโรงเรือนที่มีการจัดการที่ดีมักไม่พบปัญหามาก แต่ในกรณีของแปลงปลูกที่มีการทำเกษตรโรคที่มักจะพบได้แก่ โรคแห้ง โรคใบจุด โรคเหี่ยวตาย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา สามารถป้องกันและกำจัดได้ในระยะก่อนเตรียมแปลง หากมีการพบในแปลงสามารถฉีดพ่นสารเคมีได้ทุกๆ 7-10 วัน เช่นยาที่มี แมนโคเซบ, เมทาแลกซิล, ไดเมโทมอร์ฟ เป็นต้น ในเรื่องปัญหาของแมลงที่เข้าทำลายมะเขือเทศส่วนมากจะพบหนอนชอนใบที่เข้าทำลาย สามารถใช้ยาฆ่าแมลงได้ทั่วไป เช่น ฟิโพรนิล, ไดโนฟูแรน, อะบาเมกติน เป็นต้น
เพลิดเพลินกับการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ในสวนของคุณและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับครอบครัวของคุณได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว!
14 มี.ค. 2567
17 ก.ย. 2567
15 มี.ค. 2567
6 พ.ย. 2567